Thursday, June 20, 2019

บุหรี่ไฟฟ้า นวัตกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่(หรือ?)



บุหรี่ไฟฟ้า นวัตกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่(หรือ?)
            เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะสังเกตว่าบ้านเราเริ่มมีการนำเอาบุหรี่ไฟฟ้า(electronic cigarette)เข้ามาใช้ โดยคนส่วนใหญ่ที่สูบมักเป็นกลุ่มวัยเริ่มทำงานหรือประมาณ 20 กว่าถึง 30 ต้นๆ บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร แล้วทำไมถึงเข้ามีบทบาทอย่างไรกับการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่
            ที่มาของการสร้างบุหรี่ไฟฟ้าคือ ในปี 2001 เภสัชชาวจีนที่ชื่อ Hon Lik ซึ่งทำงานอยู่หน่วยวิจัยของบริษัทยาของจีน แล้วพ่อของเขาก็ตายจากมะเร็งปอด เนื่องจากสูบบุหรี่หนักมาก และเลิกไม่ได้ ทั้งๆที่ก็รู้ว่าบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็ง และเนื่องจากเขาก็รู้ว่า จริงๆแล้วคนที่ติดบุหรี่นั้นเพราะติดนิโคติน แต่ตายจากทาร์ จึงคิดว่า งั้นก็ทำบุหรี่ที่มีแต่นิโคตินสิ แต่ไม่มีทาร์ เลิกบุหรี่ได้ไม่เป็นไร แต่ไม่เป็นมะเร็ง(เออ ก็คิดได้) เค้าก็เลยคิดอุปกรณ์ที่สามารถระเหยนิโคตินที่เป็นของเหลวให้กลายเป็นไอหรือควันเพื่อสูดแต่ไม่มีใบยาสูบอยู่ คนสูบก็จะได้รับแต่นิโคติน แต่ไม่มีทาร์จากยาสูบ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นในปี 2003
            แล้วบุหรี่ไฟฟ้า มันดีจริงหรือ ก็ต้องบอกก่อนว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีมาไม่ถึง 20 ปี และการใช้จริงๆนั้น ยังไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นข้อมูลอะไรต่างๆทางวิทยาศาสตร์ หรือการเก็บข้อมูลทางการวิจัยนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่ามันดีกว่าการสูบบุหรี่แบบเดิม หรือไม่ดี หรือแย่กว่า ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปนะครับว่าดีหรือไม่ดี มีทั้งผ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยฝ่ายสนับสนุนนั้นให้เหตุผลหลักๆว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเนี่ย ไม่มีการเผาไหม้จากยาสูบ ดังนั้นก็ไม่ต้องได้รับสารก่อมะเร็งหรือสารพิษต่างๆนาๆ และก็จะทำให้ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่จริงๆนั้น สามารถเลิกได้ง่ายขึ้น ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยนั้นก็บอกว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น ไม่มีควันก็จริง แต่มันก็จะทำให้คนสูบหน้าใหม่นั้นเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้มากขึ้นง่ายขึ้น อีกทั้งตัวบุหรี่และน้ำยานิโคตินเองก็มีราคาแพง เกิดในกรณีที่เขาหาซื้อน้ำยาไม่ได้ กลุ่มพวกนี้ ก็จะต้องหันกลับไปสูบบุหรี่ปกติอยู่ดี เพราะพวกเค้า ติดนิโคติน และแน่นอน ประโยชน์ของมันเองก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจน
         ส่วนสถานการณ์ในแประเทศไทยเองนั้น ตอนที่เขียนอยู่นี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้าราชอาณาจักรนะครับ คือเป็นสินค้าที่ห้ามขายห้ามนำเข้าในบ้านเมืองเราอยู่ ผิดพระราชบัญญัติศุลลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ส่วนที่เห็นๆกันอยู่ทั่วๆไปนั้นเดาว่าคงซื้อหรือหิ้วมากจากต่างประเทศ
ก็คงยังต้องติดตามดูข้อมูลกันต่อไปว่าบุหรี่ไฟฟ้า ดีจริงหรือ หรือแค่คำหลอกโฆษณาชวนเชื่อ แต่ก็เชื่อว่าการไม่เข้าไปยุ่งกับการสูบตั้งแต่แรก น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด แล้วจะทำให้บทความนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องอ่านอีกต่อไป เพราะเราจะได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่าดีหรือไม่ดี ในเมื่อถ้าไม่มีใครสูบอะไรเลย

บุหรี่แบบอ่อน ดีกว่าจริงหรือ??


บุหรี่แบบอ่อน ดีกว่าจริงหรือ??
บุหรี่แบบอ่อน หรือแบบเบาๆ หรือบางคนเรียกว่าไลท์ (light, mild หรือ ventilated cigarette) เป็นบุหรี่ที่ถูกผลิตขึ้นมาให้ระดับนิโคตินต่ำกว่าบุหรี่ปกติ หรือ สารทาร์ต่ำกว่าปกติ หรือ มีกลิ่นหรือรสที่นุ่มนวลกว่าปกติ ซึ่งบุหรี่ที่เรียกว่าเป็นแบบอ่อนนั้น มีหลายชนิดมากไม่ว่าจะเป็นแบบ อ่อนนิโคติน อ่อนทาร์ หรือกลิ่นอ่อน พวกนี้เรียกว่าบุหรี่แบบอ่อนทั้งนั้น แต่อ่อนกันคนละอย่าง ต้องแยกกัน แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นแบบที่นิโคตินอ่อน ทาร์จะอ่อนไปด้วย โดยที่จุดประสงค์ที่เค้าทำแบบอ่อนขึ้นมาก็เพื่อจะหวังว่ามันจะทำให้สิงห์อมควันรู้สึกปลอดภัยขึ้นเวลาสูบเข้าไป เช่น บุหรี่ที่นิโคตินน้อยลงก็หวังว่าจะทำให้ติดบุหรี่น้อยลงซึ่งบุหรี่(ควันบุหรี่ประกอบด้วยสองส่วนหลักๆคือนิโคตินที่ทำมให้ติด และทาร์ที่เป็นสารก่อมะเร็งและโรคต่างๆ) ส่วนบุหรี่ที่ทาร์น้อยลงก็ ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่างๆลดลง ส่วนบุหรี่ที่กลิ่นนุ่มนวลขึ้นก็แค่กลิ่นนุ่มนวลขึ้นทาร์หรือนิโคตินอาจจะเท่าเดิม
            ซึ่งตอนแรกหลายๆคนก็เชื่อว่าการสูบบุหรี่แบบนี้อาจจะดีก็ได้นะ เพราะแนวคิดนี้มาค่อนข้างดี แต่กลายเป็นว่าพอเอาเข้าจริงๆ ก็มีคนมาทำงานวิจัย เก็บข้อมูลเปรียบเทียบ ปรากฎว่าความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
            อย่างเช่นในคนที่หันมาสูบบุหรี่ที่มีปริมาณนิโคตินต่ำ กลับกลายเป็นว่าคนพวกนี้สูบบุหรี่ถี่ขึ้นกว่าเดิม ด้วยเนื่องจากว่า ปริมาณนิโคตินที่เข้าสู่สมองแต่ละครั้งที่สูบนั้นน้อยกว่าที่สูบปกติจากบุหรี่ธรรมดา ทำให้เมื่อที่ต้องการจะรักษาระดับปริมาณนิโคตินที่เข้าสมองเท่าเดิม จะต้องสูบถี่ขึ้น และสูบเข้าปอดลึกกว่าเดิม หรือบางคนถึงขนาดเอาก้นกรองออกไปเลยเพื่อให้ได้รับสารนิโคตินที่เพิ่มขึ้นให้เท่ากับของเดิม แต่ก่อนที่เคยสูบตอยเป็นบุหรี่ปกติ ทำให้สุดท้ายจริงๆแล้ว ผลสุดท้ายแทบจะไม่ได้ต่างกันเลย เพราะว่าคนที่สูบก็จะปรับตัวเพื่อให้ได้ปริมาณนิโคตินเท่าเดิม โดยเฉพาะคนที่เอาก้นกรองออก ก็ไม่ต่างจากการสูบแบบปกติเลย

Thursday, June 6, 2019

Pm 2.5 บุหรี่กับรถยนต์ อะไรแย่กว่ากัน


จริงๆตอนนี้ PM 2.5 ของบ้านเราก็ยังอยู่ แต่ว่าช่วงนี้มันน้อยลง อาจเป็นเพราะว่าฝนตก ลมแรงเลยช่วยกันพัดกันไปเร็ว ไม่ได้ตกอยู่ในพื้นที่หนึ่งนานๆเหมือนเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ก็เลยดูเบาใจลงไปได้ บวกกับช่วงนี้วันหยุดสูบบุหรี่โลกเพิ่งผ่านพ้นไปไม่กี่วัน ได้มีโอกาสไปฟังงานหยุดสูบบุหรี่ แล้วมีคนบอกว่าบุหรี่นี่ร้ายแรงกว่ารถเครื่องยนต์ดีเซล อีกนะ คำถามที่เกิดขึ้นในหัวก็คือ มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ ก็เลยลองหาข้อมูลดูปรากฏว่า “คุณพระ” เป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นอย่างไรน่ะเหรอ ลองอ่านดู

            มีคนเคยทำการศึกษาเมื่อปี 2016 โดยสาเหตุในการเริ่มทำ เนื่องจากว่าเค้ากลัวเรื่องเกี่ยวกับการสูบบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ คือ ไม่ได้สูบเอง แต่คนข้างๆสูบ ก็ได้รับผลพลอยได้จากการสูบด้วย แล้วเรื่องนี้มันเกี่ยวยังไงกับ PM 2.5 ล่ะ ก็คือ การสูบบุหรี่เนี่ย ก็ทำให้เกิด PM 2.5 เหมือนกัน เพราะเป็นการเผาไหม้ชีวะมวลเหมือนกัน ทีนี้ถ้าอยู่บ้านก็พอจะควบคุมเรื่อง PM 2.5 กันได้เพราะก็เป็นบ้านของแต่ละคน อาจจะซื้อเครื่องฟอกอากาศหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พออยู่ในที่สาธารณะ คนอื่นสูบ เราไม่สูบ ก็โดนกันหมด เค้าเลยอยากรู้ว่า แล้วการสูบบุหรี่เนี่ยมันร้ายแรงแค่ไหนในการสร้าง PM 2.5 ก็เลยออกแบบการทดลอง โดยการเอารถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเครื่อง 14,000 ซีซี ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าเครื่องดีเซลสร้าง PM 2.5 ได้มากกว่าเครื่องเบนซิน แล้วต่อท่อไอเสียเข้าไปในห้องปิดขนาด 32 ตารางเมตร ที่มีประตู การทดลองให้รถสองคันนี้สตาร์ทรถทิ้งไว้เอาควันไอเสียเข้าไปในห้องเป็นเวลา 8 นาทีแล้วดับเครื่อง จากนั้นเปิดประตูห้องให้อากาศระบาย แล้ววัดค่า PM 

เทียบกับการให้คนหนึ่งคนเข้าไปสูบบุหรี่ในห้องเดียวกัน สองมวน ย้ำนะครับ ว่าแค่สองมวน เป็นเวลา 8 นาทีเหมือนกัน แล้วเปิดห้องออกมาให้ระบาย
            ผลปรากฏว่าเมื่อเทียบกับบุหรี่แค่สองมวนนั้นมีค่า PM 2.5 มากกว่ารถบรรทุก ปรมาณหกเท่า จะเห็นได้ว่า มากกว่ารถบรรทุกมากมายนัก ดังนั้นแม้เราจะแก้ปัญหาเรื่องมลพิษ มีรถยนต์ไฟฟ้า มีขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น ไม่ว่าเป็นรถไฟที่ดีขึ้นทั้งใต้ดิน บนดิน รถโดยสารประจำทางที่ดีขึ้น แต่คนทั่วๆไปยังสูบบุหรี่อยู่ การแก้ปัญหามลพิษ ซึ่งจริงๆก็คือการแก้ปัญหาที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภายเรา ก็อาจจะไม่เห็นผลเท่าที่ควรนัก
            ยังไงซะมนุษย์ทุกคนก็อยากได้อากาศดีๆไว้หายใจ

ที่มา Multidiscip Respir Med. 2016; 11: 2.

บุหรี่ไฟฟ้า นวัตกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่(หรือ?)

บุหรี่ไฟฟ้า นวัตกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่(หรือ?)             เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะสังเกตว่าบ้านเราเริ่มมีการนำเอาบุหรี่ไฟฟ้...